6 ธันวาคม 2559

: จากของเสียมาเป็นพลังงาน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

 
จากของเสียมาเป็นพลังงาน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
 
                                                                                                                         ดร.สุนีรัตน์ รัตนะ
                                                                                                             นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ
                                                                                                                 ส่วนควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
                                                                                                         สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13(ชลบุรี)



               พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ เป็นหนึ่งใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals- SDGs) ที่กำหนดว่า ภายในปี พ.ศ. 2573 จะมีการลงทุนในแหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อน และพลังงานจากชีวมวล เพิ่มมากขึ้น  ทำให้เกิดการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมในทุกที่ ลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากสู่สิ่งแวดล้อม1

                
เมื่อได้ยินคำว่า ก๊าซชีวภาพ หรือ ไบโอแก๊ส (Biogas) เราก็มักคิดถึงก๊าซมีเทน หรือ ก๊าซที่สามารถนำมาใช้หุงต้มอาหาร หรือจุดให้ไฟติดได้ สามารถนำมาต้มน้ำให้เกิดเป็นไอน้ำ เพื่อหมุนกังหันไอน้ำสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าได้ จริงๆ แล้วก๊าซชีวภาพ ไม่ได้มีเฉพาะก๊าซมีเทนเท่านั้น แต่ยังมีก๊าซชนิดอื่นๆ ปะปนอยู่ด้วย โดยทั่วไปแล้วก๊าซชีวภาพ มีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นก๊าซอื่น ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ก๊าซไนโตรเจน และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ เป็นองค์ประกอบอีกเล็กน้อย และถึงแม้ว่าก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ จะมีอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก แต่กลับเป็นก๊าซที่หากเกิดขึ้นแล้ว และไม่มีระบบที่กำจัดออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลต่ออัตราการผลิตก๊าซทั้งหมด ทำให้ก๊าซชีวภาพโดยรวมมีปริมาณลดลง จนถึงจุดที่ระบบไม่สามารถทำงานได้เลย นอกจากนี้ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ยังเป็นสาเหตุของกลิ่นไม่พึงประสงค์ ที่เรียกว่า ก๊าซไข่เน่า ซึ่งหากร่างกายของเราได้รับก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์อย่างต่อเนื่อง ที่ระดับความเข้มข้น 2,000-5,000 ส่วนในพันล้านส่วน หรือ พีพีบี (ppb) เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ น้ำตาไหล ปวดหัว หรือนอนไม่หลับ และหากได้รับที่ความเข้มข้น 20,000 ppb จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร2

 

 
 
  
 
ก๊าซชีวภาพเกิดขึ้นได้อย่างไร
 
ก๊าซชีวภาพ เกิดจากการย่อยสลายของสารอินทรีย์ หรือ เศษอาหาร เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรชนิดต่างๆ  มูลสัตว์ รวมทั้งของเหลือใช้จากโรงงานแปรรูปอาหาร โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง โรงงานผลิตเอธานอล หรือแม้กระทั่งกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียภายใต้สภาวะไร้ออกซิเจน (Anaerobic)   ก๊าซจากระบบฝังกลบขยะมูลฝอย ก็จัดเป็นก๊าซชีวภาพเช่นกันเนื่องจากขยะมีเศษอาหารและสิ่งที่ย่อยสลายได้ปะปนอยู่ เมื่อทับถมกันภายใต้สภาวะไร้อากาศ จึงเกิดเป็นก๊าซชีวภาพขึ้น และปัจจัยสำคัญที่ทำให้การย่อยสลายเกิดขึ้นได้ ก็คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก นั่นเอง

สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่ว่า คืออะไร และมีหน้าที่อะไรบ้าง

สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และทำให้เกิดกระบวนการย่อยสลายจนได้ก๊าซชีวภาพ มี  2 ชนิด ชนิดแรก คือ แบคทีเรีย ชนิดที่สอง คือ อาร์เคีย อาร์เคียจะทำหน้าที่ต่อจากแบคทีเรียทำให้เกิดก๊าซมีเทนขึ้น โดยเราเรียกอาร์เคียกลุ่มนี้โดยเฉพาะว่า เมทาโนเจน 
 

                   กระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะไร้ออกซิเจน ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทั้งแบคทีเรียและอาร์เคียในอุณหภูมิที่เหมาะสม คือ ประมาณ 20-45°C โดยเริ่มจากสารอินทรีย์ในรูปของแป้ง น้ำตาล ไขมัน และโปรตีน ถูกทำให้แตกตัวจากโมเลกุลใหญ่เป็นโมเลกุลเล็ก ผ่านกระบวนการแตกตัวหรือไฮโดรไลซิส (Hydrolysis) เกิดเป็นสารอินทรีย์โมเลกุลเล็ก ในรูปของโมโนแซคคาไลน์ (คาร์โบไฮเดรตโมเลกุลเล็ก) กรดไขมัน และกรดอะมิโน จากนั้นสารอินทรีย์โมเลกุลเล็กเหล่านี้ จะถูกแบคทีเรียที่ทำหน้าที่ย่อยสลายผ่านกระบวนการหมัก (Fermentation) เกิดเป็นกรดไขมันระเหยง่ายสายสั้นๆ ที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบเพียง 3 หรือ 4 ตัว ที่เรียกว่า โพรพิโอเนต (Propionate) บิวทิเรต (Butyrate) ตามลำดับ ซึ่งกรดไขมันระเหยง่ายทั้งสองชนิดนี้ สามารถถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียชนิดต่างๆ เกิดเป็นกรดไขมันระเหยง่ายที่มีคาร์บอนเพียง 1 ตัว เป็นองค์ประกอบ หรือ อะซิเตท (Acetate) ขณะเดียวกันทั้งโพรพิโอเนต บิวทิเรต และอะซิเตท ยังสามารถเปลี่ยนเป็นก๊าซไฮโดรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย การเกิดปฏิกิริยาในขั้นนี้ สามารถเกิดกลับไปกลับมาได้ขึ้นอยู่กับสภาวะของระบบ และการทำงานของแบคทีเรียชนิดต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว และขั้นตอนสุดท้ายการที่จะได้ก๊าซมีเทนออกมา อาศัยการทำงานของเมทาโนเจนที่ทำหน้าที่เปลี่ยนอะซิเตท ก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บางส่วน เป็นก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งรวมเรียกว่า ก๊าซชีวภาพ
การผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตของโรงงาน ไม่ว่าจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง โรงงานผลิตเอธานอล หรือจากฟาร์มสุกร เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนนั้น ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเฉพาะจากน้ำมัน ซึ่งถือเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป และเนื่องจากก๊าซมีเทนมีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential, GWP) ในช่วงระยะเวลา 100 ปี เท่ากับ 25 เมื่อเทียบกับ GWP ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การนำก๊าซชีวภาพในรูปของก๊าซมีเทนมาใช้ประโยชน์ จึงเป็นการลดการเกิดภาวะโลกร้อนที่เกิดจากก๊าซมีเทน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญได้
การดำเนินโครงการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism, CDM) หรือตามความตกลงใหม่ Paris Agreement จากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP21)4 ที่ผ่านมานั้น  ประเทศไทยนอกจากจะให้ความสำคัญกับภาคคมนาคมซึ่งมีส่วนสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังควรต้องหันมาให้ความสำคัญกับภาคส่วนการจัดการขยะและน้ำเสียเพิ่มมากขึ้นด้วยโดยเฉพาะการนำก๊าซชีวภาพจากระบบฝังกลบขยะมูลฝอยชุมชนมาใช้ประโยชน์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าหากได้มีการออกแบบระบบรวบรวมก๊าซอย่างเหมาะสม และการนำกากตะกอนเข้มข้นจากระบบบำบัดน้ำเสีย (Sludge) มาเข้าสู่ระบบบ่อหมักแบบไร้อากาศ (Anaerobic Digestion) ซึ่งหากได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น นอกจากผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการผลิตก๊าซมีเทนที่นำมาใช้เผาไหม้ได้โดยตรงเช่นในปัจจุบันแล้ว ยังสามารถนำก๊าซแอมโมเนียที่เกิดขึ้นจากการย่อยสลายโปรตีนมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ย หรือต่อยอดเพื่อผลิตเป็นเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนหรือเป็นก๊าซไฮโดรเจนสำหรับใช้เติมรถยนต์แทนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ในอนาคต ถือเป็นแนวคิดใหม่ในการเปลี่ยนของเสียเป็นพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
 
 
 
 
 
 


เอกสารอ้างอิง

1 http://www.un.or.th/globalgoals/th/the-goals/ เข้าถึง เมื่อ 5 ธันวาคม  2559

2รายงานผลการดำเนินงานของกรมควบคุมมลพิษ กรณีกลิ่นเหม็นรบกวน ประจำวันที่ 4-5 ธันวาคม 2559

3    Klass, D.L. (1984) Methane from anaerobic fermentation. Science 223(4640), 1021-1028.

   Stams, A.J.M. (1994) Metabolic interactions between anaerobic bacteria in methanogenic environment. Antonie van Leeuwenhoek 66(1-3), 271-294.

  Rittmann, B.E. and McCarty, P.L. (2001) Environmental Biotechnology: Principles and Applications, The McGraw-Hill Companies, Inc., New York, NY.

4 เอกสารสรุป การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2558
 
 
 
 

31 ตุลาคม 2559

: ลุ่มน้ำและชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ

ลุ่มน้ำและชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ

อรสา  นิลประกอบกุล
 นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ
สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี)

ประเทศไทยแบ่งลุ่มน้ำ (Watershed) ออกเป็น 9 กลุ่ม ลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำหลัก และ 254 ลุ่มน้ำสาขา โดยใช้สันปันน้ำทั้งที่เป็นธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นเส้นแบ่ง  โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งพื้นที่ในระบบเขตการปกครอง (ตำบล อำเภอ จังหวัด) ไม่สามารถแบ่งน้ำได้ ส่วนชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ โดยกำหนดจากปัจจัยด้านกายภาพซึ่งมีผลต่อกระบวนการทางอุทกวิทยา และมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก 6 ประการ คือ สภาพภูมิประเทศ ระดับความลาดชัน  ความสูงจากระดับน้ำทะเล ลักษณะทางธรณีวิทยา ลักษณะทางปฐพีวิทยา และสภาพป่าไม้ที่เหลืออยู่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ (การใช้ประโยชน์ที่ดิน) และควบคุมการไหลของน้ำภายใน ลุ่มน้ำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับหลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม                             
            ในพื้นที่ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา และ สระแก้ว  เขตรับผิดชอบของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) อยู่ในพื้นที่ 3 กลุ่มลุ่มน้ำ 4 ลุ่มน้ำหลักและ 14 ลุ่มน้ำสาขา รายละเอียดดังตาราง

รหัสลุ่มน้ำหลัก
ชื่อลุ่มน้ำหลัก
รหัสลุ่มน้ำสาขา
ชื่อลุ่มน้ำสาขา
พื้นที่
(ตร.กม.)
ร้อยละ
พื้นที่เกาะ
(ตร.กม.)
ร้อยละ
15
แม่น้ำปราจีนบุรี
1502
1503
คลองพระสทึง
แม่น้ำพระปรง
2 ,639.99
2 ,699.94
27.29
27.91
-
-
-
-
16
แม่น้ำบางปะกง
1603
1604
1605
คลองท่าลาด
คลองหลวง
ที่ราบแม่น้ำบางปะกง
2 ,930.22
825.20
5 ,171.90
27.38
7.71
48.33
-
-
-
-
-
-
17
โตนเลสาป
1701

1702
1703
โตนเลสาปตอนบน (ลุ่มน้ำสาขา)
ห้วยพรมโหด
โตนเลสาปตอนล่าง
1 ,613.74

932.93
1 ,539.25
39.50

22.83
37.67
-

-
-
-

-
-
18
ชายฝั่งทะเลตะวันออก
1801

1802
1803
1804
1805
1806
ชายฝั่งทะเลตะวันออก (ลุ่มน้ำสาขา)
แม่น้ำเมืองตราด
แม่น้ำจันทบุรี
คลองโตนด
แม่น้ำประแสร์
คลองใหญ่
4 ,416.62

1 ,558.69
1 ,593.59
1 ,656.42
2 ,137.75
1 ,729.98
33.73

11.90
12.17
12.65
16.33
13.21
404.46

-
-
-
-
-
100.00

-
-
-
-
-


ในส่วนของชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ได้ถูกกำหนดขึ้นเป็น 5 ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ  ซึ่งในลุ่มน้ำชั้นที่ 1 จะแบ่งออกเป็น 2 ระดับชั้นย่อย โดยมีมาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นต่างๆ ดังนี้
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ
            - ห้ามเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้เป็นรูปแบบอื่นอย่างเด็ดชาด
            - ระงับการอนุญาตทำไม้โดยเด็ดขาด และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบำรุงรักษาป่าธรรมชาติที่มีอยู่ ส่วนบริเวณใดเป็นที่รกร้างว่างเปล่า หรือป่าเสื่อมโทรม ให้ดำเนินการปลูกป่าทดแทน
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี
            - พื้นที่ที่มีการเปลี่ยนสภาพ หรือพัฒนาเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ นั้น ต้องดำเนินการวางแผนการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ
            - พื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการพัฒนาในรูปแบบใด ๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปลูกป่า                  อย่างรีบด่วน
            - ในกรณีการสร้างถนนหรือการทำเหมืองแร่ หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการจะต้องควบคุม                                        การชะล้างพังทลายของดินที่เกิดขึ้นในบริเวณโครงการ
          - ส่วนราชการที่มีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2
  - การอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมป่าไม้และเหมืองแร่ต่อไปได้ จะต้องมีการควบคุมการใช้ที่ดิน                 อย่างเข้มงวด
            - หลีกเลี่ยงการใช้ที่ดินเพื่อกิจกรรมทางด้านเกษตรกรรม
            - ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปลูกป่าในบริเวณที่ถูกทำลาย


พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3
            - การใช้พื้นที่ในกิจการต่างๆ จะต้องควบคุมให้เป็นไปตามหลักการอนุรักษ์ดินและน้ำ
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 4
            - การใช้พื้นที่เพื่อกิจการใด ๆ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการโดยเคร่งครัด
            - การใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม จะต้องวางแผนให้เป็นไปตามมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 5
            - อนุญาตให้ใช้เพื่อดำเนินกิจการใด ๆ ได้ตามปกติ
            - ในกรณีใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการเกษตรสูง       
            โดยสรุปคือ ระบบลุ่มน้ำ เน้นการจัดการน้ำ ส่วนชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ เน้นเขตการใช้ประโยชน์        ของทรัพยากรที่เหมาะสมภายในพื้นที่ลุ่มน้ำ เมื่อนำระบบลุ่มน้ำ และชั้นคุณภาพลุ่มน้ำมาวิเคราะห์เชิงพื้นที่ร่วมกันจึงเป็นวิธีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพมากกว่าระบบขอบเขตการปกครอง เพราะระบบลุ่มน้ำให้มิติความชัดเจนในเรื่อง ปริมาณ คุณภาพ และช่วงเวลาการไหลที่มีความสัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์ที่ดิน

   
   ที่มา : แผนที่มาตรฐานการแบ่งลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำสาขาของประเทศไทย                                                      
         สำนักวิจัย พัฒนาและอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
      : http://www.haii.or.th/wiki/index.php/สภาพภูมิประเทศลุ่มน้ำบางปะกง

23 กันยายน 2559

: ไดออกซิน สารก่อมะเร็งภัยใกล้ตัวเรา

ไดออกซิน สารก่อมะเร็งภัยใกล้ตัวเรา
                                                                                                    นางสาวอรวรรณ  ใจบุญ
                                                                                                      นักวิชาการสิ่งแวดล้อม
สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี)

ประชาชนคนไทยโดยส่วนใหญ่จะเผาขยะในเขตที่อยู่อาศัยซึ่งพบได้มากตามเขตพื้นที่ชนบทซึ่งขยะจะถูกนำไปเผาในพื้นที่นอกบ้าน เช่น ในสวน บ่อขยะชุมชน ซึ่งขยะที่เผาจะประกอบไปด้วย เศษใบไม้ กิ่งไม้ เศษหญ้า กระดาษ พลาสติก เป็นต้น ขยะบางประเภทสามารถ คัดแยกขยะนำกลับมาใช้ใหม่หรือการนำไปจำหน่ายยังสถานที่รับซื้อขยะ   แต่หากนำขยะเหล่านี้ไปเผาทำลายต้องทำให้ถูกหลักสุขาภิบาลซึ่งการเผาแบบสุขาภิบาล คือ การเผาด้วยเตาเผาที่มีความร้อนสูง ขยะที่เข้าเตาเผาควรมีสภาพค่อนข้างแห้งเผาไหม้ได้และประชาชนส่วนใหญ่จะเผาขยะกลางแจ้งซึ่งเป็นการเผาขยะแบบไม่ถูกสุขาภิบาล ทำให้เกิดมลภาวะอันเกิดจากการเผาไหม้และเกิดอันตรายต่อร่างกายและสิ่งที่อันตรายที่เกิดจากการเผาไหม้ คือ สารเคมีบางชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ซึ่งทำให้เราได้รับสารชนิดนี้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งสารเคมีชนิดนี้เรียกว่า  ไดออกซิน (Dioxins)
ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกับสารชนิดนี้ว่ามีความอันตรายอย่างไร
ไดออกซิน (Dioxins)  คือ  สารอันตรายที่ได้รับพิจารณาเป็นสารอันตรายชั้นที่ 1 ซึ่งหมายถึงสารที่มีความเป็นพิษสูงที่สุด และเป็นสารก่อมะเร็ง สารไดออกซินมีผลต่อสุขภาพและพันธุกรรม มนุษย์และเป็นสารที่สลายตัวยากมีความคงทนยาวนานในสิ่งแวดล้อม สามารถปนเปื้อน สู่บรรยากาศได้ สารนี้สามารถเคลื่อนย้ายไปได้ระยะทางไกลมาก จากอากาศสู่ดิน จากดินสู่น้ำ หรือจากดินสู่พืชและเข้าสู่ร่างกายมนุษย์
แหล่งกำเนิดสารไดออกซิน เป็นผลิตผลทางเคมีที่เกิดขึ้นมาโดยมิได้ตั้งใจผลิต จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ถือเป็นผลผลิตพลอยได้ที่เกิดจากหลายกระบวนการและแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม เช่น
 - อุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตที่ใช้อุณหภูมิต่ำกว่า 800 องศาเซลเซียส แต่จำเป็นต้องมีการลดอุณหภูมิเป็นบางช่วง ซึ่งการลดอุณหภูมิลงจะทำให้เกิดสารไดออกซินได้ เช่น เตาเผาขยะประเภทต่างๆ เตาหลอมโลหะ เป็นต้น
- แหล่งกำเนิดจากการเผาไหม้ตามธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟระเบิด ไฟไหม้ป่า เป็นต้น
- อุตสาหกรรมและกิจกรรมที่มีการเผาไหม้ที่ใช้อุณหภูมิต่ำกว่า 800 องศาเซลเซียส เช่น เตาเผากากของเสียอันตรายและเตาขยะชุมชน การเผาขยะตามบ้านเรือน การเผาหญ้าในที่โล่งซึ่งในพื้นที่นั้นมีการใช้สารฆ่าแมลงที่มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ
- กระบวนการทางชีวภาพ เช่น การหมักและการย่อยสลายบริเวณแหล่งกักเก็บสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ที่สะสมอยู่เป็นเวลานาน
- การผลิตที่มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ เช่น โรงงานผลิตสารเคมี กระบวนการฟอกย้อม การฟอกกระดาษ การผลิตพลาสติก( PVC)




ความเป็นพิษของสารไดออกซิน พบได้ทั้งในดิน น้ำ อากาศ และปนเปื้อนในอาหารซึ่งเป็นสารที่สลายตัวได้ยากจึงตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการเป็นพิษได้หลายรูปแบบ ดังนี้
ความเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแบบ
- ทำให้น้ำหนักตัวลดลง เกิดความผิดปกติที่ตับ เซลล์ตับตาย และเกิดอาการโรคผิวหนังอักเสบ
ความเป็นพิษต่อระบบประสาท
- มีอาการกล้ามเนื้อเสื่อม สูญเสียความรับรู้บนเส้นประสาท
ความเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
- ทำให้เกิดโรคผิวหนังที่เรียกว่า “คลอเอคเน” (Chlorance)  คือมีผิวหนังขึ้นเป็นสิวหัวดำเกิดถุงสีน้ำตาลอมเหลืองที่ผิวหนังบริเวณหลังใบหู ขอบตา หลัง ไหล่และอวัยวะสืบพันธุ์ 



สารกระตุ้น
- เป็นสารกระตุ้นการก่อมะเร็งหรือเนื้องอกในอวัยวะต่างๆ
ความเป็นพิษต่อตัวอ่อน
- ทำให้ตัวอ่อนหรือทารกผิดปกติและตายก่อนครบกำหนด ทำให้ทารกมีโครงสร้างผิดปกติหรือทำให้การทำงานของอวัยวะและเนื้อเยื่อบางชนิดผิดปกติ
ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ
- ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของระดับภูมิคุ้มกันบางชนิด
          ในประเทศไทยยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงจากผลกระทบของสารไดออกซินมาก่อนซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงนั้นเคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น ประเทศอิตาลี ซึ่งเกิดอุบัติเหตุในอดีตจากการระเบิดของโรงงานผลิตสารเคมี ทําใหคนงานไดรับผลกระทบ คือ ตรวจพบมะเร็งที่ตับ เนื่องจากการ เปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของเอ็นไซมในตับ ผิวหนังมีอักเสบลักษณะเปนสิวหัวดํามีอาการระบบภูมิคุมกัน บกพรอง โดยมีผลกระทบตอสุขภาพในระยะยาว ซึ่งมีผูไดรับผลตอเนื่องนานถึง 20 ป
          การตรวจวัดสารไดออกซินนั้นสามารถอ้างอิงได้หลายวิธี ซึ่งวิธีมาตรฐานเหล่านั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามตัวอย่างประเภทต่างๆ เช่น ตัวอย่างอากาศจากปล่อง ตัวอย่างในบรรยากาศ ตัวอย่างน้ำทิ้ง ตัวอย่างชีวภาพ ตัวอย่างอาหาร ฯลฯ นอกจากนั้นแต่ละประเทศก็จะมีมาตรฐานการวิเคราะห์ด้วยวิธีต่างๆกัน เช่น EPA1613, EPA8290หรือEPA23 TO - 09 EN1948(พล สาเททอง, 2549) ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1.      วิธีสกัดโดยเทคนิคต่างๆ เช่น Soxhlet extraction, microwave extraction, Solid phase extraction(SPE), Liquid-Liquid extraction(LLE), Accelerated Solvent  extraction(ASE), Pressurized Solvent Extraction(PSE)
2.      วิธีการกำจัดสิ่งสกปรกออกจากตัวอย่าง (clean up) เช่น Gel Permeation Chromatography, Mulyti- layer Chromatography, Basic alumina Chromatography, Acid alumina Chromatography, Actived carbon Chromatography, Sulfuric acid treatment
3.      การควบคุมคุณภาพการวิเคราะห์ (Quality control and Quality assurance) เช่น Control chart, Solvent Blank, Sample blank, C12Labelled standards, Column clean up spike, Recovery test, Standard Reference Material(SRM), Certify Reference Material (CRM)
4.      การวืเคราะห์ทางปริมาณ (Quantitative analysis) เช่น High Resolution Gas Chromatography-High Resolution Mass Spectrophotometer (HRGC/HRMS), Isotope ratio dilution
5.      การรายงานผล (report) เป็นพิโคกรัม (pictogram’pg) คือ 1 pg = 10-12 กรัม ,Toxicity Equivalent by weight of 2,3,7,8-TCDD (TEQ), I-TEF (International-Toxicity Equipvalent factors), TEQ (Total concentration, I-TEF (International – Toxicity Equivalent factors)
แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีห้องปฏิบัติการในประเทศไทย ที่สามารถจะวิเคราะห์ได้แต่ต้องส่งตัวอย่างไป วิเคราะห์ยังต่างประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จนในปี พ.ศ. 2551 จึงมีมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้จัดตั้งอาคารห้องปฏิบัติการไดออกซิน ขึ้นในประเทศไทย ห้องปฏิบัติการไดออกซิน (Dioxin Laboratory) เป็นห้องปฏิบัติการในสังกัด ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งตั้งอยู่ภายในเทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี สำหรับห้องปฏิบัติการไดออกซินของไทยนั้นถือเป็นห้องปฏิบัติการ  ไดออกซินของภาครัฐแห่งเดียวในเอเชียที่ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสิ่งแวดล้อมและอาหารได้ครบถ้วน โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ม.ค. 56 และคาดว่าจะรองรับการตรวจวิเคราะห์ไดออกซินในทุกตัวอย่างสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มรูปแบบ และกำหนดค่ามาตรฐานไดออกซินของไทยได้ในปี 2558
การจะลดปริมาณสารไดออกซินให้ลดน้อยลงนั้นจะต้องมีมาตรการเข้ามาควบคุมซึ่งในประเทศไทยก็มีกฎหมายหรือมาตรการควบคุมสารไดออกซิน ในปัจจุบันได้กำหนดค่ามาตรฐานการปลดปล่อยสารไดออกซินออกมาแล้วถึง 4 ฉบับ คือ
(1). ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดมาตรฐานควบคุม การปล่อยทิ้งอากาศเสียจากเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ อากาศเสียที่ปล่อยทิ้งจากเตาเผา มูลฝอยติดเชื้อต้องมีค่าไม่เกินมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากเตาเผา มูลฝอยติดเชื้อของสารประกอบไดออกซินซึ่งคำนวณผลในรูปของหน่วยความเข้มข้น เทียบเคียงความเป็นพิษต่อมนุษย์( PCDD/Fs as International Toxic Equivalent : I-TEQ) ไม่เกิน0.5นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร                                                          (2). ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดปริมาณสารเจือปนในอากาศที่ระบาย ออกจากปล่องเตาเผาสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เป็นอันตรายจากอุตสาหกรรม พ.ศ. 2545 กำหนดปริมาณสารไดออกซิน/ฟิวแรนที่ระบาย ออกจากเตา ต้องไม่เกิน0.5นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร                  (3). ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย จากเตาเผามูลฝอย ต้องมีค่าการปล่อยทิ้งสารประกอบ ไดออกซิน(Dioxin as TotalChlorinatedPCDD plus PCDF) ไม่เกิน30นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
(4). ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย จากโรงงานปูนซีเมนต์ที่ใช้ของเสียเป็นเชื้อเพลิงหรือเป็น วัตถุดิบในการผลิต กำหนดอากาศเสียที่ปล่อยทิ้งจาก หม้อเผาปูนของโรงงานต้องมีสารประกอบไดออกซิน ไม่เกิน0.5 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร I-TEQ
การควบคุมลดปริมาณสารไดออกซินไม่ได้มีมาตรการเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นแต่ยังเป็นข้อสัญญาระหว่างประเทศซึ่งหลายประเทศได้เข้าร่วมอนุสัญญาเพื่อเป็นมาตรการลดและเลิกการปลดปล่อยสาร โดยอนุสัญญาที่กล่าวมานี้เรียกว่า “อนุสัญญาสตอกโฮล์ม” ว่าด้วยสารพิษตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants: POPs) มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมจากสารพิษที่ตกค้างยาวนาน(สารPOPs) โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ร่วมกับคณะกรรมการรัฐบาลว่าด้วย ความปลอดภัยของสารเคมีโดยมีประเทศที่ร่วมลงนาม 152 ประเทศ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน ในอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2548 และปัจจุบันประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว 17 ประเทศ โดยอนุสัญญาสตอกโฮล์ม  กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องกำหนดเป้าหมายในการลดและเลิกการปลดปล่อยและการใช้สาร POPs ทันที ที่อนุสัญญานี้มีผลบังคับใช้การผลิตและสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชตามประเภทที่กำหนดนั้น ประเทศที่ให้สัตยาบันในอนุสัญญาแล้วจะต้องถูกห้ามใช้ผลิต โดยทันทีมีการจำกัดการผลิตและ การใช้สารกลุ่มดังกล่าวและเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ดำเนินการเพื่อลดการปลดปล่อย สารมลพิษในกลุ่ม POPs เช่น สารฆ่าแมลง ไดออกซิน ฟิวแรน เฮกซะคลอโรเบนซีน และสารพีซีบี จากกระบวนการเผาไหม้กำหนดให้มีแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์ม และจำกัดการนำเข้า การส่งออกสาร POPs และจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร เป็นต้น

จากการกำเนิดสารไดออกซินนั้นเกิดจากกระบวนการเผาไหม้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการในโรงงานอุตสาหกรรม จากธรรมชาติ จากบ้านเรือนและการเกษตร ซึ่งการเผาจะมีการแพร่กระจายไปในวงกว้างซึ่งส่งผลกระทบต่อมนุษย์ ซึ่งปัจจุบันทางโรงงานอุตสาหกรรมได้มีมาตรการกฎหมายมาควบคุมการลดสารไดออกซินให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานโดยประกาศเป็นกฎกระทรวง แต่ปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้คือ จากประชาชนจากการเผาในที่โล่ง ทำให้เกิดมลพิษทางด้านอากาศและมลพิษนี้มีสารเคมีที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ คือ ไดออกซิน ดังนั้น ประชาชนจึงควรลดการเผาในที่โล่งและหาแนวในการลดการเผาในที่โล่งซึ่งทำได้ง่ายๆ เช่น การปลูกพืชแบบที่ไม่ต้องการไถหรือไม่เผา เช่น พืชตระกูลถั่ว เพื่อเพิ่มรายได้และเพิ่มธาตุอาหารในดิน  ,การไถกลบตอซัง/ขุดหลุมฝัง ,การผลิตปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์และการคัดแยกขยะในครัวเรือน ขยะบางประเภทสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เละสามารถขายเพื่อเพิ่มรายได้ ถ้าเราสามารถลดขยะได้จากต้นทางและลดการเผาขยะในที่โล่งได้สารไดออกซินที่อันตรายก็ลดลงไปและสุขภาพร่างกายของประชาชนก็ดีขึ้นอีกด้วย

ที่มา : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สถาบันไดออกซินแห่งชาติ http://www.pcd.go.th/info_serv/haz_dioxin.html กรมควบคุมมลพิษhttp://excellenthealthgoodth.blogspot.com/2011/09/blog-post_5625.html