20 กันยายน 2559

: วัดกับสิ่งแวดล้อม



      คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธกับวัดมีความผูกพันกันมาช้านาน จะเห็นได้จากการไปทำบุญในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ถือศีลปฏิบัติธรรม งานอุปสมบท หรืองานฌาปนกิจ เป็นต้น จึงอาจกล่าวได้ว่าวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของ    ชาวพุทธ หากวัดมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความสะอาด สงบ ร่มรื่น พระสงฆ์มีสุขภาพอนามัยที่ดี ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม  อันดีงามแล้ว ก็เชื่อได้ว่า จะเป็นที่เลื่อมใสก็จะทำให้มีประชาชนหันหน้ามาเข้าวัดมากขึ้น
การพัฒนาสิ่งแวดล้อมในวัดจึงมีความสำคัญยิ่ง แต่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคมที่นิยมความสะดวกสบายและรวดเร็วจึงทำให้วิถีการทำบุญเปลี่ยนแปลงไป เรานิยมถวายอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารถุง ถวายเครื่องสังฆทานแบบถังสำเร็จรูปที่บรรจุของไม่มีคุณภาพ หรือแม้แต่ค่านิยมที่ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้พวงหรีดดอกไม้สดที่ยากต่อการกำจัดและไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้  รวมทั้งการจุดธูปที่มีส่วนผสมของสารเคมี ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้นั้น การจัดการสิ่งแวดล้อมจึงถือเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาให้สิ่งแวดล้อมในวัดและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพอนามัยของพระสงฆ์ สามเณร และประชาชนทั่วไป

การพัฒนาสิ่งแวดล้อมในวัดเราควรเริ่มต้นจากวัดควรมีการกำหนดพื้นที่ของวัดให้เป็นสัดส่วนทั้งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส มีการดูแลรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสิ่งก่อสร้างภายในวัด เช่น ศาลาการเปรียญ, ทางเดิน, โรงครัว, ห้องสุขา ฯลฯ เพราะจะทำให้สามารถควบคุมสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคได้ อีกทั้งยังเป็นการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคได้อีกทางหนึ่ง และนอกจากนี้แล้วในวัดควรมีการดูแลต้นไม้ใหญ่เพื่อให้เกิดความร่มรื่น โดยเฉพาะต้นไม้ที่แสดงความสำคัญของพุทธศาสนาเช่น ต้นสาละ ต้นโพธิ์ ฯลฯ มีการจัดสถานที่ให้สวยงาม ปลูกพืชสมุนไพร เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ภายในวัด มีการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยกันลดมลพิษต่างๆ เช่น เรื่องการจัดการขยะ ควรจัดให้มีถังขยะแบบแยกประเภท มีกิจกรรมลดปริมาณขยะ เช่น แยกขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ การทำน้ำหมักจุลินทรีย์ การทำปุ๋ยหมัก การติดตั้งถังดักไขมันในโรงครัวของวัดก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพราะจะช่วยลดปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ  มาตรการลดการจุดธูปเทียนในการประกอบพิธีทางศาสนา ด้วยการใช้ธูปก้านสั้น หรือธูปเทียนไฟฟ้า เนื่องจากการจุดธูปเทียนก่อให้เกิดพิษภัยต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้พวงหรีดที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น เปลี่ยนจากพวงหรีดดอกไม้สดเป็นพวงหรีดต้นไม้, พัดลม ,ช้อน, ผ้าห่ม, นาฬิกา เป็นต้น การเลือกเครื่องสังฆทาน ควรเป็นสังฆทานที่มีประโยชน์ มีคุณภาพ และเป็นสังฆทานที่แยกของกินของใช้ออกจากกัน รวมไปถึงการส่งเสริมให้วัดเป็นเขตปลอดอบายมุข เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เขตปลอดยาเสพติดทุกชนิด  ความปลอดภัยต่างๆ ภายในวัดก็มีความสำคัญ วัดควรมีมาตรการป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ โดยการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเพลิงไหม้ มีการตรวจสอบอุปกรณ์ให้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง  และปัญหาที่น่ากังวลคือสุนัข แมว ที่มีอยู่ในวัดซึ่งบางวัดเป็นของญาติโยมที่นำมาปล่อย ซึ่งทางวัดจำเป็นต้องเลี้ยงไว้ หากเป็นเช่นนี้วัดควรมีการกำหนดสถานที่ หรือกรงของสัตว์เลี้ยงแยกต่างหาก ไม่นำสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงในอาคาร และควรมีการดูแล รักษาความสะอาด กรง ภาชนะใส่อาหาร การรับวัคซีนตามกำหนดเวลา รวมถึงการทำหมันเพื่อป้องกันการเพิ่มจำนวนของสัตว์เหล่านั้น นอกจากนี้ควรมีการเทศนาสอดแทรกเพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักให้แก่       ศาสนิกชนในเรื่องการจัดการมลพิษ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านช่องทางต่างๆ เป็นต้น 


                                                   



สิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในวัด นั่นคือจะต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วนโดยวัดควรมีกิจกรรมต่างๆ มีการจัดตั้งคนในชุมชนเข้ามาเป็นคณะทำงานในการพัฒนาวัด มีการร่วมคิด...ร่วมวางแผน...ร่วมดำเนินการ... เพื่อพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาของชุมชนตามแนวทาง บ้าน... วัด... โรงเรียน (บวร) เป็นที่พึ่งทางจิตใจ เป็นที่อบรมสั่งสอนทั้งในเรื่องศีลธรรมและการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม เป็นดีแก่ศาสนิกชนต่อไป


---------------------------------------------------------------------------- 
ที่มา เอกสารเผยแพร่ โครงการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัด กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
       กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม