ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๕๕
ดวงสมร ธำรงคุณากร
เจ้าพนักงานธุรการ
สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑๓ (ชลบุรี)
สวัสดีค่ะ ในแต่ละปีงบประมาณ หลายๆ ท่านยื่นใบลากันหลายต่อหลายครั้ง แต่ทราบหรือไม่ว่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๕๕ มีประเภทการลาทั้งหมดกี่ประเภท ลองมาทำความรู้จักและทำความเข้าใจให้มากขึ้น ดังนี้ค่ะ
๑. ให้ยกเลิก ระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ.๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
๒. ให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้
๓. ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับแก่ข้าราชการพลเรือน (ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน), ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา, ข้าราชการการเมือง และข้าราชการตำรวจ (ข้อ ๖ วรรค ๑)
๔. การลาทุกประเภท ถ้ามีกฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการลาประเภทนั้นๆ ด้วย (ข้อ ๗)
๕. การนับวันลาตามระเบียบนี้ ให้นับตามปีงบประมาณ (ข้อ ๑๐ วรรค ๑)
การนับวันลา เพื่อประโยชน์ในการเสนอหรือจัดส่งใบลา อนุญาตให้ลาและคำนวณวันลาให้นับต่อเนื่องกัน โดยนับวันหยุดราชการที่อยู่ในระหว่างวันลาประเภทเดียวกันรวมเป็นวันลาด้วย เว้นแต่การนับเพื่อประโยชน์ในการคำนวณวันลาสำหรับวันลาป่วยที่มิใช่วันลาป่วยตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์ ข้าราชการผู้ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยเพราะเหตุปฏิบัติราชการ วันลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร วันลากิจส่วนตัว และวันลาพักผ่อน ให้นับเฉพาะวันทำการ (ข้อ ๑๐ วรรค ๒)
การลาครึ่งวัน (เช้าหรือบ่าย) ให้นับเป็นการลาครึ่งวันตามประเภทการลานั้นๆ (ข้อ ๑๐ วรรค ๖)
๖. ส่วนราชการอาจนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ในการเสนอใบลา อนุญาตให้ลา และยกเลิกวันลา สำหรับการลาป่วย ลาพักผ่อน หรือลากิจส่วนตัวซึ่งมิใช่ลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตร (ข้อ ๑๒ วรรค ๒)
๗. การลาแบ่งออกเป็น ๑๑ ประเภท คือ
๑) การลาป่วย
๒) การลาคลอดบุตร
๓) การลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร
๔) การลากิจส่วนตัว
๕) การลาพักผ่อน
๖) การลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย์
๗) การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล
๘) การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัย หรือดูงาน
๙) การลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ
๑๐) การลาติดตามคู่สมรส
๑๑) การลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ
๘. ข้าราชการที่ประสงค์จะลาป่วยให้เสนอหรือจัดใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับก่อนหรือในวันที่ลา เว้นแต่กรณีจำเป็นจะเสนอหรือจัดใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการก็ได้ (ข้อ ๑๘ วรรค ๑)
๙. การลาป่วย ตั้งแต่ ๓๐ วันขึ้นไป ต้องมีใบรับรองแพทย์ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแนบไปกับใบลาด้วย (ข้อ ๑๘ วรรค ๓)
๑๐. การลาคลอดบุตร จะลาในวันที่คลอดก่อน หรือหลังวันที่คลอดบุตรก็ได้ แต่เมื่อรวมวันลาแล้ว ต้องไม่เกิน ๙๐ วัน (ข้อ ๑๙ วรรค ๒)
๑๑. การลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร ต้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย และให้เสนอหรือจัดส่งใบลาก่อนหรือในวันที่ลาภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่คลอดบุตร และให้มีสิทธิลาได้ครั้งหนึ่งติดต่อกันไม่เกิน ๑๕ วันทำการ (ข้อ ๒๐)
๑๒. การลากิจส่วนตัว ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะหยุดราชการได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจะเสนอหรือจัดส่งใบลาพร้อมระบุเหตุจำเป็นไว้แล้วหยุดราชการไปก่อนก็ได้ แต่จะต้องชี้แจงเหตุผลให้ผู้มีอำนาจอนุญาตทราบโดยเร็ว (ข้อ ๒๑) สำหรับข้าราชการที่ลาคลอดบุตรแล้ว หากต้องการจะลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตร ให้มีสิทธิลาต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน ๑๕๐ วันทำการ (ข้อ ๒๒)
๑๓. การลาพักผ่อน มีสิทธิลาในปีงบประมาณหนึ่งได้ ๑๐ ทำการ ส่วนผู้ซึ่งได้รับบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครั้งแรกและยังรับราชการไม่ถึง ๖ เดือน ไม่มีสิทธิลาพักผ่อนประจำปี (ข้อ ๒๓ (๑)) ถ้าในปีใดข้าราชการผู้ใดมิได้ลาหรือลาแต่ไม่ครบ ๑๐ วันทำการ ให้สะสมวันที่ยังมิได้ลาในปีนั้น เข้ากับปีต่อๆ ไปได้ แต่รวมกับปีปัจจุบันจะต้องไม่เกิน ๒๐ วันทำการ แต่สำหรับผู้ที่รับราชการติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี ให้มีสิทธินำวันลารวมกับปีปัจจุบันได้ไม่เกิน ๓๐ วันทำการ (ข้อ ๒๔ วรรค ๒) และจะต้องได้รับอนุญาตแล้วจึงจะหยุดราชการได้ (ข้อ ๒๖)
๑๔. การลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย์ ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาก่อนวันอุปสมบทหรือก่อนวันเดินทางไป ไม่น้อยกว่า ๖๐ วัน (ข้อ ๒๙) และข้าราชการที่รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ลา จะต้องอุปสมบทหรือออกเดินทางไปภายใน ๑๐ วันนับแต่วันเริ่มลา และต้องกลับมารายงานตัว เข้าปฏิบัติราชการภายใน ๕ วัน นับแต่วันที่ลาสิขาหรือวันที่เดินทางกลับถึงประเทศไทย (ข้อ ๓๐)
๑๕. การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล ให้รายงานลาต่อผู้บังคับบัญชาก่อนวัน เข้ารับการตรวจเลือกไม่น้อยกว่า ๔๘ ชั่วโมง (ข้อ ๓๑) และเมื่อข้าราชการที่ลานั้นพ้นจากการเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพลแล้วให้มารายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติราชการตามปกติต่อผู้บังคับบัญชาภายใน ๗ วัน เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็น อาจขยายเวลาให้ได้แต่รวมแล้วไม่เกิน ๑๕ วัน
๑๖. การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัย หรือดูงาน ข้าราชการซึ่งประสงค์จะลาทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงหัวหน้าส่วนราชการ ยกเว้น ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงแล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาอนุญาต (ข้อ ๓๓)
๑๗. การลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชา ตามลำดับจนถึงรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อพิจารณาอนุญาต โดยถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการไปทำการซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้น เหมือเต็มเวลาราชการ (ข้อ ๓๔)
๑๘. การลาติดตามคู่สมรส ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้ลาได้ไม่เกิน ๒ ปี หรือกรณีจำเป็นให้ลาต่อไปได้อีก ๒ ปี รวมแล้วต้องไม่เกิน ๔ ปี ถ้าเกิน ๔ ปี ให้ลาออกจากราชการ (ข้อ ๓๖)
๑๙. การลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ ข้าราชการผู้ใดที่ได้รับอันตรายหรือป่วยเจ็บเพราะเหตุปฏิบัติราชการในหน้าที่หรือถูกประทุษร้ายเพราะเหตุกระทำการตามหน้าที่ จนตกเป็นผู้ทุพพลภาพหรือพิการ หากประสงค์จะลาไปเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือจำเป็นต่อการประกอบอาชีพ ให้ลาได้ครั้งหนึ่งตามระยะเวลาที่กำหนดในหลักสูตร แต่ไม่เกิน ๑๒ เดือน (ข้อ ๓๙ วรรค ๑)
ท่านใดสนใจอ่านฉบับเต็ม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ (Click here)
ที่มา : ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๕๕
ราชกิจจานุเบกษา : http://www.mratchakitcha.soc.go.th/search_result.php