|
“Minamata Convention on Mercury”
------------------------
ชลาลัย รุ่งเรือง
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ
สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่
๑๓ (ชลบุรี)
ปรอทเป็นโลหะที่มนุษย์รู้จักกันดี
โดยมีการนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อเป็นส่วนผสมของยารักษาโรค
และปัจจุบันมีการนำปรอทมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ทั้งทางด้านการแพทย์
วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การใช้และการจัดการสารปรอทอย่างไม่เหมาะสม
ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน
ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงพิษภัยของปรอท
จากเหตุการณ์เศร้าสลดที่เกิดขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๖
– ๒๕๐๓ กับชาวประมง
และผู้บริโภคปลาและหอยที่ปนเปื้อนสารปรอท บริเวณอ่าวมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต และมีผู้ป่วยด้วยอาการชาตามร่างกาย ควบคุมตัวเองไม่ได้
และเป็นอัมพาต หรือที่เรียกว่า “โรคมินามาตะ” มากกว่า ๑,๒๐๐ คน
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น
ทำให้ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๕๖ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ
(United Nations Environment Programme: UNEP) ร่วมกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรเอกชน จึงได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการพัฒนามาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านการจัดการปรอท
หรือ Intergovernmental Negotiating Committee (INC) to prepare a global legally binding instrument on mercury ขึ้น
เพื่อยกร่างอนุสัญญาระหว่างประเทศสำหรับควบคุม และจัดการปรอท และให้ชื่ออนุสัญญาฉบับนี้ว่า “The Minamata
Convention on Mercury”
“อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท (The Minamata Convention on Mercury) ” เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นการควบคุม และลดการใช้ และการปลดปล่อยปรอทจากแหล่งกำเนิดที่เป็นประเด็นปัญหาสำคัญระดับโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม จากการปลดปล่อยปรอทและสารประกอบปรอทจากกิจกรรมของมนุษย์สู่อากาศ แหล่งน้ำ และดิน
ปัจจุบันมีประเทศให้สัตยาบัน (ratification)[1] ในอนุสัญญามินามาตะฯ แล้ว ๓๖ ประเทศ (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม ๒๕๖๐) โดยอนุสัญญาฯ
จะมีผลใช้บังคับใน ๙๐ วัน หลังจากมีประเทศให้สัตยาบัน หรือ ภาคยานุวัติ (accession)[2] ครบ ๕๐ ประเทศ
สำหรับประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ทั้งนี้ อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้กับแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ดังนี้
· แหล่งอุปทานปรอทและการค้าปรอท
ได้กำหนดให้ไม่อนุญาตให้มีการค้าปรอท ยกเว้น ประเทศภาคีนำเข้าได้ให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร
และเพื่อวัตถุประสงค์การใช้ที่ได้รับอนุญาตจากอนุสัญญาฯ และการกำจัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ
และพยายามระบุคลังปรอทหรือสารประกอบปรอท (individual stocks) ที่มีปริมาณเกินกว่า 50 เมตริกตัน และแหล่งอุปทานปรอทที่ก่อให้เกิดการสะสมของปรอทหรือสารประกอบปรอท
(generating stocks) ที่มีปริมาณเกินกว่า 10 เมตริกตันต่อปี ภายในประเทศ
· ผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอท
ได้กำหนดให้มีการ phase - down อะมัลกัมอุดฟัน
และให้มีการ phase - out ผลิตภัณฑ์ฯ อื่น ๆ ภายในปี ๒๐๒๐ อาทิ (๑) แบตเตอรี่ (๒) สวิตซ์ไฟฟ้าและรีเลย์ (๓) หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดคอมแพกต์ (๔) หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดตรง (๕)
หลอดปรอทความดันไอสูง (๖) หลอด Cold-Cathode
Fluorescent Lamps (CCFL) และหลอด External Electrode Fluorescent Lamp (EEFL) (๗) เครื่องสำอางค์ รวมทั้งสบู่และครีมผิวขาว (๘) สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ และ (๙) เครื่องมือวัดที่ไม่ใช่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (non-electronic
measuring devices) อาทิ barometers hygrometers manometers thermometers และ sphygmomanometers ยกเว้น ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสอดคล้องกับข้อยกเว้นที่อนุสัญญาฯ ได้กำหนดขึ้น
· กระบวนการผลิตที่มีการใช้ปรอทและสารประกอบปรอท ได้กำหนดให้มีการ phase-down (๑) การผลิตสารไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (๒) โซเดียม
หรือโพแทสเซียม เมทิลเลต หรือ เอทิลเลต (๓) การผลิตโพลียูรีเทน โดยใช้ปรอทเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และให้มีการ phase-out
(๑) การผลิตคลออัลคาไลน์ ภายในปี ๒๐๒๕ (๒) กระบวนการผลิตอะซีตัลดีไฮด์
(acetaldehyde) ซึ่งใช้ปรอทและสารประกอบปรอทเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา
ภายในปี ๒๐๑๘
·
การทำเหมืองแร่ทองคำพื้นบ้านและขนาดเล็ก หากภาคีฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า
มีการทำเหมืองแร่ทองคำพื้นบ้านและขนาดเล็กภายในประเทศของตนในระดับมากกว่าระดับที่ไม่มีนัยสำคัญ (more than insignificant) จะต้องพัฒนาและปฏิบัติตามแผนจัดการระดับชาติในการลดการใช้ปรอทในการทำเหมืองแร่ทองคำพื้นบ้านและขนาดเล็ก
·
การปลดปล่อยปรอทสู่อากาศ ได้กำหนดให้จัดทำแผนจัดการระดับชาติ
เพื่อควบคุมการปลดปล่อยปรอทสู่อากาศจากแหล่งกำเนิด (๑) โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง (๒) โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหิน
(๓) กระบวนการถลุงแร่ (smelting) และอบแร่ (roasting)
ที่ใช้ในกระบวนการผลิตโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก(ตะกั่ว สังกะสี ทองแดง
และอุตสาหกรรมผลิตทองคำ) (๔) เตาเผาขยะ และ (๕) โรงงานผลิตปูนซีเมนต์
·
การปล่อยปรอทสู่น้ำหรือดิน (Releases) ได้กำหนดให้จัดทำแผนจัดการระดับชาติ
เพื่อควบคุมการปล่อยปรอทสู่น้ำหรือดินจากแหล่งกำเนิดมีการปล่อยอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งได้จากการจัดทำทำเนียบการปล่อยปรอทสู่น้ำหรือดินโดยแต่ละภาคี
· การเก็บกักปรอทชั่วคราวอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่ของเสียปรอท
ได้กำหนดให้ภาคีฯ ต้องให้ความร่วมมือ
เพื่อพัฒนาศักยภาพสำหรับการเก็บกักปรอทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจะต้องใช้มาตรการเพื่อให้มั่นใจว่าการเก็บกักปรอทสำหรับการใช้ที่ได้รับอนุญาตภายใต้อนุสัญญาฯ
จะต้องเป็นการเก็บกักปรอทอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
และจะต้องเป็นการเก็บกักในลักษณะชั่วคราวเท่านั้น
·
ของเสียปรอท ได้กำหนดให้ภาคีฯ
ต้องมีการจัดการของเสียปรอทอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงแนวทางที่มีการพัฒนาภายใต้อนุสัญญาบาเซล
และที่ประชุมรัฐภาคีฯ อาจต้องรับรองข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานที่กำจัดกากของเสีย การออกแบบ
การเดินระบบ และการบำบัดก่อนการกำจัดขั้นสุดท้ายในภาคผนวกเพิ่มเติม
·
พื้นที่ที่ปนเปื้อนปรอท ได้กำหนดให้ภาคีฯ
ต้องพยายามพัฒนากลยุทธ์ที่เหมาะสม เพื่อการระบุและการประเมินพื้นที่ที่ปนเปื้อนปรอท และที่ประชุมรัฐภาคีฯ ต้องรับรองแนวทางเกี่ยวกับหลักการการจัดการพื้นที่ปนเปื้อน
ซึ่งครอบคลุมถึงการระบุพื้นที่ที่ปนเปื้อน การมีส่วนร่วมของประชาชน
และการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ อนุสัญญาฯ ยังมุ่งเน้นในประเด็นการเสริมสร้างความตระหนัก
การศึกษาวิจัย การติดตามตรวจสอบ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน
ด้านเทคนิควิชาการ และด้านเทคโนโลยีเพื่อการจัดการปรอทด้วย
หมายเหตุ : [1] การมอบสัตยาบันสาร หรือหนังสือแสดงความยินยอมที่จะผูกพันตามข้อตกลงหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศ
หลังจากได้ลงนามในข้อตกลงหรืออนุสัญญานั้นแล้วภายในระยะเวลาลงนามที่กำหนด
[2] การมอบภาคยานุวัติสาร
หรือหนังสือแสดงความยินยอมที่จะผูกพันตามข้อตกลงหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศ โดยไม่ได้ลงนามในข้อตกลงหรืออนุสัญญานั้นก่อนภายในระยะเวลาลงนามที่กำหนด
เอกสารอ้างอิง
กรมควบคุมมลพิษ
(พิมพ์ครั้งที่ ๒). ๒๕๕๙. คำแปลอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท. กรุงเทพฯ