24 กุมภาพันธ์ 2560

: ร้านรับซื้อของเก่ากับสิ่งแวดล้อม



                 
        โดย นางลักษณา วีรธนาภรณ์ 
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ

“ในบรรดาธุรกิจที่ทำรายได้ให้กับผู้ประกอบการอย่างเป็นกอบเป็นกำ และเป็นที่จับตามองอีกหนึ่งธุรกิจคงต้องยกให้ "ธุรกิจรับซื้อของเก่า" แต่สิ่งที่ตามมาเป็นเงาตามตัวคือ ความเสี่ยงต่อการเป็นบ่อเกิดของเชื้อโรคต่างๆ ด้วยต้องมีการสะสมขยะหรือวัสดุเหลือใช้ไว้ภายในร้าน ซึ่งหากผู้ประกอบการขาดความรู้ ความเข้าใจในการจัดการดูแลร้านให้เหมาะสม อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของผู้ประกอบกิจการและคนงาน รวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ข้างเคียงได้” 
ร้านรับชื้อของเก่า หมายถึง สถานประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการขายทอดตลาดและค้าของเก่าตามพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 หรือสถาน ประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทที่ 13(5) การสะสมวัตถุหรือสิ่งของที่ชำรุด ใช้แล้วหรือเหลือใช้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ 5/2538 เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ คำว่า ขยะ เรามักจะนึกถึงสิ่งปฏิกูล ของเสีย สิ่งของเหลือใช้หรือสิ่งที่เราไม่ได้ใช้แล้ว ซึ่งจำนวนขยะที่เกิดขึ้นมีจำนวนไม่น้อยและขยะส่วนใหญ่เป็นขยะที่สามารถนำกับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ โดยการนำกลับมาใช้ใหม่หรือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น จึงทำให้ขยะเหล่านั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจึงได้มีการคิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจขึ้นมาคือ  “ร้านรับซื้อของเก่า” เพื่อซื้อขยะจากผู้ประกอบการที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับซื้อ เก็บขน รวบรวมขยะจากบ้านเรือน ชุมชน ร้านค้า สถานประกอบการอื่นๆ เพื่อรอจำหน่ายและแปรรูปต่อไป
            ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ภาพลักษณ์บริเวณรับชื้อของเก่าอาจดูไม่สวยงามที่มีกองวัสดุและมีความสกปรกอยู่เป็นจำนวนมากและสถานที่ตั้งร้านรับซื้อของเก่าส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในชุมชนซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น  ซึ่งลักษณะของกิจการรับซื้อของเก่าจะต้องมีการสะสมสิ่งของ อาทิเช่น แก้ว กระดาษ หรือโลหะบางชนิด ไว้ในร้านเป็นเวลานาน บวกกับการจัดการภายในสถานประกอบกิจการที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงได้
(1) เหตุรำคาญ : จากการเก็บรวบรวมขยะที่ได้มา และมีการหมักหมมจึงทำให้ส่งกลิ่นรบกวนกระจายไปทั่วชุมชนและยังมีฝุ่นละอองที่เกิดจากการเก็บรวบรวมและการขนถ่ายขยะ
(2) น้ำเสีย : จากการล้างภาชนะอาจมีการไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองที่อยู่ใกล้เคียงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำหรืออาจเกิดขึ้นถึงขั้นรุนแรงทำให้แหล่งน้ำเป็นพิษสิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้
(3) แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์นำโรค : เช่น ยุง แมลงวัน แมลงสาบ และหนู เป็นต้น เนื่องจากเป็นแหล่งเก็บรวบรวมขยะจึงทำให้มีขยะเหลือทิ้งค้างไว้เป็นแหล่งกำเนิดอาหารของสัตว์ต่างๆ ที่เป็นพาหะนำโรคมาสู่คน
(4) ปัญหาเสียงดัง : เช่น การเคลื่อนย้ายสิ่งของภายในร้านหรือการแยกอุปกรณ์ชิ้นส่วนที่สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าได้
(5) เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ : ขยะที่เก็บรวบร่วมโดยขาดประสิทธิภาพโดยเฉพาะขยะที่เป็นอันตรายอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนผู้ประกอบการเองและประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง เช่น โรคทางเดินอาหารที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีแมลงวันเป็นพาหะ เป็นต้น
(6) อุบัติเหตุ : ที่เกิดจากการสัมผัสสิ่งของมีคม และการสัมผัสสารเคมีอันตรายที่มากับขยะ

ปฏิวัติ ร้านรับซื้อของเก่าสะอาดปลอดภัยใส่ใจสิ่งแวดล้อม
1. ปฏิบัติการ 5ส. เป็นวิธีการจัดการต่อสภาพแวดล้อมของร้านรับซื้อของเก่าและบริเวณโดยรอบร้านแบบง่ายๆ และไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย โดยนำหลัก 5ส. มาใช้ ได้แก่
(1) สะสาง : ลดการสูญเปล่า เป็นการแยกของที่ไม่จำเป็นออก เช่น สำรวจวัสดุรีไซเคิลที่รับซื้อ แยกวัสดุที่เป็นรีไซเคิลออกจาก และกำจัดสิ่งที่ไม่ต้องการ
(2) สะดวก : เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เป็นการจัดวางสิ่งของต่างๆให้เป็นระเบียบเพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการใช้งาน เช่น กำหนดประเภทของวัสดุ พื้นที่เก็บให้เป็นสัดส่วน และเขียนป้ายชื่อแสดงประเภทวัสดุ
(3) สะอาด : ตรวจสอบความผิดปกติ เป็นการทำความสะอาด (ปัด กวาด เช็ด ถู) อุปกรณ์และสถานที่ทำงาน เช่น แบ่งขอบเขตการทำความสะอาด กำจัดสาเหตุที่เป็นบ่อเกิดของขยะและความสกปรก ตรวจเช็คเครื่องใช้อุปกรณ์ว่าทำความสะอาดแล้วหรือยังและต้องพร้อมใช้งานตลอดเวลา
(4) สุขลักษณะ : รักษาข้อดี ของ 3ส.  คือ สะสาง สะอาด สุขลักษณะ เช่น เสียงต้องไม่ดัง แสงสว่างต้องเพียงพอ ต้องมีตะแกรงดักจับมูลฝอย เพื่อไม่ให้ขวางทางระบายน้ำ จัดสถานที่ให้เรียบร้อย พนักงานแต่งตัวถูกต้องและมีอุปกรณ์ป้องกันอันตราย
(5) สร้างนิสัย : รักษามาตรฐาน 4ส. เช่น มีการอบรมให้กับพนักงานเกี่ยวกับระเบียบและมาตรฐานและสร้างจนเป็นนิสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน
 2. ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และแนวทางการป้องกันเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากร้านรับชื้อของเก่า ดังนี้
(1)     ทำเลที่ตั้งจะต้องห่างจากที่พักอาศัยประมาณ 100 เมตร
(2)     ควรตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำหรือบ่อน้ำธรรมชาติประมาณ 300 เมตร
(3)     มีรั้วรอบสถานประกอบกิจการ
(4)     ทำผังแสดงส่วนต่างๆของร้านรับซื้อของเก่า
(5)     ลักษณะอาคารต้องมีหลังคาคลุม พื้นต้องเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กป้องกันการท่วมขังของน้ำ
(6)     ต้องมีประตูทางเข้า-ออกที่พอกับจำนวนพนักงาน
(7)     จัดทำป้ายชื่อสถานประกอบกิจการ
(8)     พื้นตัวอาคารต้องจัดให้มีแสงสว่างเพียงพอ
(9)     มีมาตรการป้องกันแสงสว่าง ฝุ่นละออง และเสียงดัง
(10)  จัดให้มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้อย่างเหมาะสม
(11) มีสัญญาณเตือนเพลิงไฟไหม้และเครื่องดับเพลิงตามกฎหมายกำหนด
(12)  เครื่องจักรต้องติดตั้งบนพื้นและฐานของเครื่องจักรที่รองรับไว้
(13)  จัดวางอุปกรณ์และเครื่องจักรที่ไม่กีดขวางทางเดิน
(14)  จัดให้มีระบบป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร


ดังนั้น ธุรกิจร้านรับซื้อของเก่าถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากผู้บริโภคและเป็นการแยกประเภทของขยะได้เป็นอย่างดีเพื่อสะดวกต่อการนำไปใช้ประโยชน์หรือกำจัดได้ง่ายขึ้น การบริหารจัดการดูแลสถานประกอบกิจการต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลและอยู่ภายใต้ข้อกฎหมายกำหนด หากผู้ประกอบกิจการได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดร้านรับชื้อของเก่าก็จะกลายเป็นร้านรับชื้อของเก่าสีเขียวที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงได้น้อยที่สุด และอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยาวนาน

6 กุมภาพันธ์ 2560

: อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท “Minamata Convention on Mercury”



อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท 
“Minamata Convention on Mercury”
------------------------
ชลาลัย รุ่งเรือง
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ

สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑๓ (ชลบุรี)

ปรอทเป็นโลหะที่มนุษย์รู้จักกันดี โดยมีการนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อเป็นส่วนผสมของยารักษาโรค และปัจจุบันมีการนำปรอทมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ทั้งทางด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การใช้และการจัดการสารปรอทอย่างไม่เหมาะสม ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน
ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงพิษภัยของปรอท จากเหตุการณ์เศร้าสลดที่เกิดขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ๒๕๐๓ กับชาวประมง และผู้บริโภคปลาและหอยที่ปนเปื้อนสารปรอท บริเวณอ่าวมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต และมีผู้ป่วยด้วยอาการชาตามร่างกาย ควบคุมตัวเองไม่ได้ และเป็นอัมพาต หรือที่เรียกว่า โรคมินามาตะ มากกว่า ๑,๒๐๐ คน
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๕๖ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ร่วมกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรเอกชน จึงได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการพัฒนามาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านการจัดการปรอท หรือ Intergovernmental Negotiating Committee (INC) to prepare a global legally binding instrument on mercury ขึ้น เพื่อยกร่างอนุสัญญาระหว่างประเทศสำหรับควบคุม และจัดการปรอท และให้ชื่ออนุสัญญาฉบับนี้ว่า “The Minamata Convention on Mercury”
อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท (The Minamata Convention on Mercury) ” เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นการควบคุม และลดการใช้ และการปลดปล่อยปรอทจากแหล่งกำเนิดที่เป็นประเด็นปัญหาสำคัญระดับโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม จากการปลดปล่อยปรอทและสารประกอบปรอทจากกิจกรรมของมนุษย์สู่อากาศ แหล่งน้ำ และดิน
ปัจจุบันมีประเทศให้สัตยาบัน (ratification)[1] ในอนุสัญญามินามาตะฯ แล้ว ๓๖ ประเทศ (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม ๒๕๖๐) โดยอนุสัญญาฯ จะมีผลใช้บังคับใน ๙๐ วัน หลังจากมีประเทศให้สัตยาบัน หรือ ภาคยานุวัติ (accession)[2]  ครบ ๕๐ ประเทศ สำหรับประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ทั้งนี้ อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้กับแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ดังนี้
·       แหล่งอุปทานปรอทและการค้าปรอท ได้กำหนดให้ไม่อนุญาตให้มีการค้าปรอท ยกเว้น ประเทศภาคีนำเข้าได้ให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร และเพื่อวัตถุประสงค์การใช้ที่ได้รับอนุญาตจากอนุสัญญาฯ และการกำจัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ 
และพยายามระบุคลังปรอทหรือสารประกอบปรอท (individual stocks) ที่มีปริมาณเกินกว่า 50 เมตริกตัน และแหล่งอุปทานปรอทที่ก่อให้เกิดการสะสมของปรอทหรือสารประกอบปรอท (generating stocks) ที่มีปริมาณเกินกว่า 10 เมตริกตันต่อปี ภายในประเทศ 
·             ผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอท ได้กำหนดให้มีการ phase - down อะมัลกัมอุดฟัน และให้มีการ phase - out ผลิตภัณฑ์ฯ อื่น ๆ ภายในปี ๒๐๒๐ อาทิ () แบตเตอรี่ () สวิตซ์ไฟฟ้าและรีเลย์ () หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดคอมแพกต์ () หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดตรง () หลอดปรอทความดันไอสูง () หลอด Cold-Cathode Fluorescent Lamps (CCFL) และหลอด External Electrode Fluorescent Lamp (EEFL) () เครื่องสำอางค์ รวมทั้งสบู่และครีมผิวขาว () สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ และ () เครื่องมือวัดที่ไม่ใช่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (non-electronic measuring devices) อาทิ barometers hygrometers manometers thermometers และ sphygmomanometers ยกเว้น ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสอดคล้องกับข้อยกเว้นที่อนุสัญญาฯ ได้กำหนดขึ้น
·      กระบวนการผลิตที่มีการใช้ปรอทและสารประกอบปรอท ได้กำหนดให้มีการ phase-down () การผลิตสารไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ () โซเดียม หรือโพแทสเซียม เมทิลเลต หรือ เอทิลเลต () การผลิตโพลียูรีเทน โดยใช้ปรอทเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และให้มีการ phase-out () การผลิตคลออัลคาไลน์ ภายในปี ๒๐๒๕ () กระบวนการผลิตอะซีตัลดีไฮด์ (acetaldehyde) ซึ่งใช้ปรอทและสารประกอบปรอทเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ภายในปี ๒๐๑๘
·      การทำเหมืองแร่ทองคำพื้นบ้านและขนาดเล็ก หากภาคีฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า มีการทำเหมืองแร่ทองคำพื้นบ้านและขนาดเล็กภายในประเทศของตนในระดับมากกว่าระดับที่ไม่มีนัยสำคัญ (more than insignificant) จะต้องพัฒนาและปฏิบัติตามแผนจัดการระดับชาติในการลดการใช้ปรอทในการทำเหมืองแร่ทองคำพื้นบ้านและขนาดเล็ก
·          การปลดปล่อยปรอทสู่อากาศ ได้กำหนดให้จัดทำแผนจัดการระดับชาติ เพื่อควบคุมการปลดปล่อยปรอทสู่อากาศจากแหล่งกำเนิด () โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง () โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหิน () กระบวนการถลุงแร่ (smelting) และอบแร่ (roasting) ที่ใช้ในกระบวนการผลิตโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก(ตะกั่ว สังกะสี ทองแดง และอุตสาหกรรมผลิตทองคำ) () เตาเผาขยะ และ () โรงงานผลิตปูนซีเมนต์
·          การปล่อยปรอทสู่น้ำหรือดิน (Releases) ได้กำหนดให้จัดทำแผนจัดการระดับชาติ เพื่อควบคุมการปล่อยปรอทสู่น้ำหรือดินจากแหล่งกำเนิดมีการปล่อยอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งได้จากการจัดทำทำเนียบการปล่อยปรอทสู่น้ำหรือดินโดยแต่ละภาคี
·       การเก็บกักปรอทชั่วคราวอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่ของเสียปรอท ได้กำหนดให้ภาคีฯ ต้องให้ความร่วมมือ เพื่อพัฒนาศักยภาพสำหรับการเก็บกักปรอทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจะต้องใช้มาตรการเพื่อให้มั่นใจว่าการเก็บกักปรอทสำหรับการใช้ที่ได้รับอนุญาตภายใต้อนุสัญญาฯ จะต้องเป็นการเก็บกักปรอทอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจะต้องเป็นการเก็บกักในลักษณะชั่วคราวเท่านั้น
·         ของเสียปรอท ได้กำหนดให้ภาคีฯ ต้องมีการจัดการของเสียปรอทอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงแนวทางที่มีการพัฒนาภายใต้อนุสัญญาบาเซล และที่ประชุมรัฐภาคีฯ อาจต้องรับรองข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานที่กำจัดกากของเสีย การออกแบบ การเดินระบบ และการบำบัดก่อนการกำจัดขั้นสุดท้ายในภาคผนวกเพิ่มเติม
·         พื้นที่ที่ปนเปื้อนปรอท ได้กำหนดให้ภาคีฯ ต้องพยายามพัฒนากลยุทธ์ที่เหมาะสม เพื่อการระบุและการประเมินพื้นที่ที่ปนเปื้อนปรอท และที่ประชุมรัฐภาคีฯ ต้องรับรองแนวทางเกี่ยวกับหลักการการจัดการพื้นที่ปนเปื้อน ซึ่งครอบคลุมถึงการระบุพื้นที่ที่ปนเปื้อน การมีส่วนร่วมของประชาชน และการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ อนุสัญญาฯ ยังมุ่งเน้นในประเด็นการเสริมสร้างความตระหนัก การศึกษาวิจัย การติดตามตรวจสอบ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน ด้านเทคนิควิชาการ และด้านเทคโนโลยีเพื่อการจัดการปรอทด้วย


หมายเหตุ : [1] การมอบสัตยาบันสาร หรือหนังสือแสดงความยินยอมที่จะผูกพันตามข้อตกลงหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศ หลังจากได้ลงนามในข้อตกลงหรืออนุสัญญานั้นแล้วภายในระยะเวลาลงนามที่กำหนด
[2] การมอบภาคยานุวัติสาร หรือหนังสือแสดงความยินยอมที่จะผูกพันตามข้อตกลงหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศ โดยไม่ได้ลงนามในข้อตกลงหรืออนุสัญญานั้นก่อนภายในระยะเวลาลงนามที่กำหนด



เอกสารอ้างอิง
กรมควบคุมมลพิษ (พิมพ์ครั้งที่ ๒). ๒๕๕๙. คำแปลอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท. กรุงเทพฯ