12 เมษายน 2560

: โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่หก (ตุลาคม พ.ศ. 2559 – กันยายน พ.ศ. 2564)

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
แผนแม่บท อพ.สธ.
ระยะ 5 ปีที่หก (ตุลาคม พ.ศ. 2559 – กันยายน พ.ศ. 2564)
-------------------------------------------------------
นางอรสา  นิลประกอบกุล
                นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ
 เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริกับ เลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา ให้ดำเนินการ อพ.สธ. โดยมอบหมายให้ฝ่ายวิชาการ โครงการส่วนพระองค์ เป็นผู้ดำเนินการ สำหรับงบประมาณดำเนินงานนั้น สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สนับสนุนให้กับโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อใช้ในการดำเนินงานของ อพ.สธ. ได้แก่ การจัดสร้างธนาคารพืชพรรณ ขึ้นในปี พ.ศ. 2536 สำหรับเก็บรักษาพันธุกรรมพืชที่เป็นเมล็ด สารพันธุกรรม (DNA) และเนื้อเยื่อพืช (plant tissue culture) และสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานในทุกกิจกรรมทั้ง 8 กิจกรรม ของ อพ.สธ. เรื่อยมาจนกระทั่งปีงบประมาณ 2549 สำนักพระราชวังจึงจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินงาน อพ.สธ. ต่อไป ในฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักพระราชวัง
 นับตั้งแต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริในการดำเนินงาน อพ.สธ. ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 และพระราชทานพระราชดำริเป็นแนวทางดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นลำดับถึงปัจจุบัน อพ.สธ. ณ เดือนกันยายน พ.ศ. 2559 อพ.สธ. แบ่งหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริเป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกเป็นระดับหน่วยงานที่ขอพระราชทานพระราชานุญาตเข้าร่วมสนองพระราชดำริ               ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมดำเนินงานสนองพระราชดำริทั้งภาครัฐและเอกชน โดยพระราชานุญาตมากกว่า 150 หน่วยงาน กลุ่มที่สองเป็นสถานศึกษาในประเทศ สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนมากกว่า 2,500 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และองค์การบริหารส่วนตำบล สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นมากกว่า 500 แห่ง ซึ่งมีผลการดำเนินงานตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบัน โดยดำเนินงานในกิจกรรมทั้ง 8 กิจกรรม ภายใต้ 3 กรอบการดำเนินงาน ระยะ   ละ 5 ปี โดยทำงานครอบคลุมทั้งทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา โดยสรุปดังนี้
 1. กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร
     กิจกรรมที่ 1 กิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช
     กิจกรรมที่ 2 กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช
     กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมปลูกรักษาพันธุกรรมพืช

 2. กรอบการใช้ประโยชน์
     กิจกรรมที่ 4 กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช
     กิจกรรมที่ 5 กิจกรรมศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช
     กิจกรรมที่ 6 กิจกรรมวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช
 3. กรอบการสร้างจิตสำนึก
     กิจกรรมที่ 7 กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
     กิจกรรมที่ 8 กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
           แผนแม่บท อพ. สธ. ระยะ 5 ปีที่หก (ตุลาคม พ.ศ. 2559 – กันยายน พ.ศ. 2564) เป็นแผนแม่บท                  ที่จัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานตามแนวทางพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ                    สยามบรมราชกุมารี โดยมีหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริเข้ามามีส่วนร่วมวางแผนงาน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศไทย ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มีแนวทางดำเนินงานต่อเนื่องตามกรอบแผนแม่บทโดยเน้นการทำงานเข้าไปสร้างจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรตั้งแต่ในสถานศึกษา ดำเนินงานในระดับท้องถิ่นในการทำฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วย 3 ฐานทรัพยากร ได้แก่ ทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรกายภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา จากฐานข้อมูลดังกล่าวจะนำไปสู่การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของการมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศไทย
           แผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่หก (ตุลาคม พ.ศ.2559 – กันยายน พ.ศ. 2564) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมสนองพระราชดำริ โดยพระราชานุญาต จัดอยู่ในกลุ่มที่ 7 (G7) กลุ่มนโยบายในเรื่องของทรัพยากร ที่มีแผนแม่บทภายใต้ 2 กรอบการใช้ประโยชน์ และ 2 กิจกรรม ดังนี้
 กิจกรรมที่ 5 กิจกรรมศูนย์ข้อมูลทรัพยากร (กรอบการใช้ประโยชน์)
 - การจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรไม้กลายเป็นหิน (ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และวัฒนธรรมและภูมิปัญญา)
 กิจกรรมที่ 8 กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร (กรอบการสร้างจิตสำนึก)
- กำหนดนโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสนองพระราชดำริ อพ.สธ.
- การบริหารจัดการพื้นที่วนอุทยานไม้กลายเป็นหิน จังหวัดตาก
- การจัดทำเว็บไซต์ อพ.สธ. – สป.ทส.
- การจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการ อพ.สธ. ทุก 2 ปี

-----------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
1. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ                    สยามบรมราชกุมารี แผนแม่บท (อพ.สธ.) ระยะ 5 ปีที่หก (ตุลาคม พ.ศ. 2559 – กันยายน พ.ศ. 2564)
2. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ                  สยามบรมราชกุมารี แผนแม่บท (อพ.สธ.) ระยะ 5 ปีที่หก (ตุลาคม พ.ศ. 2559 – กันยายน พ.ศ. 2564)                     แผนแม่บทของหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ
3. แนวทางการดำเนินงานตามกรอบการดำเนินงาน ตามแผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่หก                       (1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 – 30 กันยายน พ.ศ. 2564)

4. www.rspg.or.th